การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทารก และการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ/โภชนาการของมารดาก็มีความสำคัญเมื่อให้นมลูก

การตัดสินใจไม่ให้นมลูกอาจเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข นมผงสำหรับทารกเหมาะตั้งแต่แรกเกิดเมื่อทารกไม่ได้กินนมแม่ ขอแนะนำให้ใช้นมสูตรทั้งหมดตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาลผดุงครรภ์ ผู้มาเยี่ยมเยียนด้านสุขภาพ พยาบาลสาธารณสุข นักโภชนาการ เภสัชกร หรือผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ที่รับผิดชอบในการดูแลแม่และเด็ก

และควรคำนึงถึงผลกระทบทางการเงินด้วย ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการเตรียมและการให้อาหารทั้งหมดอย่างระมัดระวัง เนื่องจากการจัดเตรียมที่ไม่เหมาะสมอาจนำไปสู่อันตรายต่อสุขภาพได้

ความสำคัญของธาตุเหล็ก

1 ใน 4 ของเด็กไทยมีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

ภาวะขาดธาตุเหล็กไม่ได้เป็นปัญหาแต่เพียงระบบโลหิตวิทยาเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการทำงานในร่างกาย ได้แก่ ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร และอวัยวะต่างๆ ดังต่อไปนี้

 

1.  ระบบประสาท

ธาตุเหล็กจะถูกสะสมในร่างกาย ตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดาจนถึงผู้ใหญ่ ผลเสียของการขาดธาตุเหล็กจะมากน้อย ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ขาดธาตุเหล็ก

  • ภาวะขาดธาตุเหล็กและพัฒนาการทางสมอง

ผลเสียของการขาดธาตุเหล็กจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเวลาที่เริ่มขาดธาตุเหล็ก ระยะเวลา และจำนวนของธาตุเหล็กที่ขาด โดยปกติแล้วหลังจากทารกคลอด เนื้อสมองยังมีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะส่วนของสมองส่วนหลัง ซึ่งจะเพิ่มขึ้นชัดเจนกว่าส่วนอื่นๆของสมองจนถึงอายุ 8 เดือน โดยจำนวนเซลล์ของสมองจะมากเท่ากับผู้ใหญ่เมื่ออายุ 15 เดือน

การขาดธาตุเหล็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือในเด็กทารกแรกเกิดจนอายุครบ 2 ปี พบว่าธาตุเหล็กมีความสำคัญต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็กในช่วงวัยนี้ จะส่งผลเสียต่อศักยภาพการเรียนรู้อย่างถาวร เด็กเล็กที่มีภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็กมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กปกติ เด็กวัยเรียนที่ขาดธาตุเหล็ก มีไอคิวต่ำกว่าเด็กที่ไม่ขาดธาตุเหล็ก และการรักษาด้วยธาตุเหล็กอาจไม่ทำให้พัฒนาการกลับมาเป็นปกติ ดังนั้นจึงควรป้องกันไม่ให้เด็กไทยขาดธาตุเหล็กด้วยการเสริมธาตุเหล็กตั้งแต่ยังเล็ก

  • ภาวะขาดธาตุเหล็กมีผลต่อพฤติกรรมเด็ก เช่น อารมณ์หงุดหงิด ตกใจง่าย เซื่องซึม ไม่ฉับไว
  • ภาวะขาดธาตุเหล็กอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการรับรสผิดปกติ อยากกินสิ่งที่มิใช่อาหาร เช่น ผู้ป่วยบางรายมีประวัติกินดินเหนียว บางรายกินน้ำแข็งตลอดเวลา ซึ่งเดิมไม่เคยทำมาก่อน บางคนกินแป้ง ฝุ่น ดิน เส้นผม เป็นเหตุให้ได้รับสารพิษอื่นแทรกซ้อน เช่น ตะกั่ว เป็นต้น

 

2.     การเจริญเติบโตของเซลล์ต่างๆ ภาวะขาดธาตุเหล็กทำให้การเจริญเติบโตของเซลล์ต่างๆไม่ดี ได้แก่

 

  • เซลล์เม็ดเลือดแดง มีฮีโมโกลบินลดลง มีการนำและสะสมออกซิเจนลดลง ทำให้ซีด อ่อนล้าง่าย
  • เซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร ภาวะขาดธาตุเหล็กรุนแรง อาจทำให้ลิ้นเลี่ยน เยื่อบุหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เรียบบาง ทำให้น้ำย่อยลดลง การย่อยและการดูดซึมอาหารลดลง
  • การเจริญเติบโตช้าลง

3.   ความสามารถในการทำงานของกล้ามเนื้อลดลง เนื่องจากภาวะขาดธาตุเหล็กทำให้ไมโอโกลบินลดลง

 

ปริมาณธาตุเหล็กที่ควรได้รับในแต่ละวัน ในแต่ละช่วงอายุ

ปริมาณธาตุเหล็กที่ควรได้รับในแต่ละวันของเด็กในช่วงอายุต่างๆ

 

กลุ่มเด็กปฐมวัย

ความต้องการธาตุเหล็กสำหรับการเจริญเติบโตนั้นจะแตกต่างกันไปตามวัย ในช่วง 4-6 เดือนแรกของชีวิตทารกจะอาศัยธาตุเหล็กที่สะสมในร่างกายตั้งแต่ในระยะที่ยังอยู่ในครรภ์มารดา ร่วมกับธาตุเหล็กจากน้ำนมแม่ ทารกแรกเกิดมีปริมาณฮีโมโกลบินสูง เมื่อคลอดแล้วทารกจะหยุดสร้างเลือดเป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ เมื่ออายุเกิน 2 เดือนจึงเริ่มสร้างเลือด โดยใช้ธาตุเหล็กที่สะสมไว้ตั้งแต่ขณะอยู่ในครรภ์ หากไม่ได้รับธาตุเหล็กจากอาหารเลย ธาตุเหล็กจะถูกใช้หมดเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน การได้รับธาตุเหล็กจากน้ำนมแม่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ทารกอายุ 6 เดือน – 2 ปี จึงควรได้รับอาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ เนื่องจากธาตุเหล็กเป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก

 

กลุ่มเด็กวัยเรียน

เนื่องจากการเจริญเติบโตของเด็กวัยเรียนเป็นระยะที่มีการเจริญเติบโตด้วยอัตราเร่ง (growth spurt) ในระยะนี้ร่างกายจะมีการสร้างเม็ดเลือดอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ปริมาณของเลือดเพียงพอกับการขยายตัวของพลาสม่า เพื่อรักษาระดับความเข้มข้นของฮีโมโกลบิน ดังนั้นธาตุเหล็กมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย และมีผลต่อพัฒนาการทางสมองและสติปัญญา

 

 

เเหล่งอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง

เเหล่งอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น นมเสริมอาหาร เนื้อสัตว์ ผักใบเขียว

ถึงแม้เราคิดว่าได้รับธาตุเหล็กเพียงพอแล้ว ก็ยังมีความจำเป็นต้องทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงเป็นประจำให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวันตามช่วงวัย เพราะธาตุเหล็กเป็นสารอาหารจำเป็นที่ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้นและธาตุเหล็กที่สะสมไว้ใช้ในร่างกายมีปริมาณจำกัด

  • รับประทานอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก ที่อยู่ในรูปองค์ประกอบของฮีม (Heme Iron) ซึ่งมีมากในเนื้อสัตว์ เลือด ตับ เครื่องในไก่ ปลา กุ้ง และหอย เป็นต้น
  • ควรรับประทานเนื้อสัตว์วันละ 6-12 ช้อนกินข้าว เนื่องจากเนื้อสัตว์ต่างๆ นอกจากมีธาตุเหล็กสูงแล้ว ยังมีผลทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กที่ไม่ใช่ฮีมจากอาหารอื่นดีขึ้น
  • อาหารอื่นๆที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ไข่แดง เต้าหู้ ธัญพืช งา ถั่วดำ นมเสริมธาตุเหล็ก
  • ถ้ารับประทานไข่ โดยเฉพาะไข่แดง ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีร่วมด้วย จะทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กในไข่แดงได้มากขึ้น
  • ควรรับประทานผลไม้วันละ 3-5ส่วน โดยเฉพาะผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กที่ไม่ใช่ฮีมจากอาหารได้มากขึ้น
  • ควรรับประทานผักผลไม้สด เพราะการใช้ความร้อนในการประกอบอาหารจะทำลายวิตามินซีได้
  • ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอสูง ซึ่งพบมากในตับ ไข่ ฟักทอง แครอท มะละกอสุก และมะม่วงสุก เนื่องจากการรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอสูง ร่วมกับอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก จะช่วยทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กที่ไม่ใช่ฮีมได้ดีขึ้น

 

 

เรื่องราวอื่นๆ ที่คุณอาจจะสนใจ

เคล็ดลับน่ารู้

    เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ดูเม็กซ์อื่นๆ เพิ่มเติม  

Careline Footer

Careline เคียงข้างคุณแม่…ดูแลลูกรัก

ทุกคำถามที่คุณแม่อยากรู้ เราพร้อมให้คำแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญพยาบาล และนักโภชนาการ.

x