การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทารก และการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ/โภชนาการของมารดาก็มีความสำคัญเมื่อให้นมลูก
การตัดสินใจไม่ให้นมลูกอาจเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข นมผงสำหรับทารกเหมาะตั้งแต่แรกเกิดเมื่อทารกไม่ได้กินนมแม่ ขอแนะนำให้ใช้นมสูตรทั้งหมดตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาลผดุงครรภ์ ผู้มาเยี่ยมเยียนด้านสุขภาพ พยาบาลสาธารณสุข นักโภชนาการ เภสัชกร หรือผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ที่รับผิดชอบในการดูแลแม่และเด็ก
และควรคำนึงถึงผลกระทบทางการเงินด้วย ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการเตรียมและการให้อาหารทั้งหมดอย่างระมัดระวัง เนื่องจากการจัดเตรียมที่ไม่เหมาะสมอาจนำไปสู่อันตรายต่อสุขภาพได้
เมื่อลูกน้อยพัฒนาการมาถึง 7 เดือน ลูกของคุณจะมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างเห็นได้ชัด ลูกจะเริ่มหยิบจับสิ่งต่างๆ ที่ตัวเองชอบบ่อยครั้ง ถึงเวลาเริ่มจัดบ้านให้ปลอดภัยสำหรับลูกวัย 7 เดือน จากที่เคยคลานจะคลานมากกว่าเก่า และบางคนเริ่มมีการเกาะยืน ลูกมักค้นพบสิ่งแปลกใหม่มากมาย ลูกจะยิ่งซุกซนมากขึ้นและต้องการพื้นที่กว้างขึ้นเพื่อออกสำรวจและคลานเล่นไปรอบๆ คุณแม่จึงควรจัดบ้านให้ปลอดภัยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง ในเวลานี้ ลูกกำลังเรียนรู้เรื่องการคลาน และความหมายของคำว่า “อย่า” หรือคำว่า “ไม่”
ลูกน้อยของคุณอาจจะพร้อมในหลายๆเรื่องแล้ว แต่เด็กบางคนอาจยังไม่สนใจจะคลาน ก็ไม่ต้องกังวลใจไปเพราะเขาอาจใช้วิธีคืบแทนคลาน หรือบางทีก็คลานถอยหลังด้วยซ้ำ คุณแม่ควรจัดบ้านให้เป็นสนามเด็กเล่นที่น่าสนใจ เช่น นำเบาะมากองซ้อนกันให้ลูกคลานข้ามไปมาเพื่อส่งเสริมให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยการสำรวจและฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ของลูกไปพร้อมกัน ถึงเวลานี้เท้าของลูกเริ่มรับน้ำหนักได้มากขึ้น
และลูกอาจกระโดดขึ้นลงอย่างสนุกสนานบนตักของคุณ นั่นเพราะประสาทส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวทำงานได้ดีขึ้น ในวัยนี้ ลูกควบคุมกล้ามเนื้อคอ ไหล่ หน้าอก และหลังส่วนล่างได้เป็นอย่างดีแล้ว ดังนั้นจึงถึงเวลาพัฒนาร่างกายส่วนล่างรวมถึงมือและเท้าทั้ง 2 ของเขา เด็กในวัยนี้แข็งแรงพอที่จะนั่งได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีใครคอยพยุง ดังนั้นจึงเป็นโอกาสเหมาะที่จะให้ลูกนั่งบนเก้าอี้สูงเพื่อทานอาหารร่วมโต๊ะกับคนอื่นๆในครอบครัว
เมื่อลูกน้อยพัฒนาการเริ่มถึงวัย 7 เดือน ถึงเวลาที่ลูกจะได้ลองอาหารใหม่ๆ ที่มีรสชาติเข้มข้นขึ้นหลังจากกินอาหารอ่อนๆรสจืดมาก่อนหน้าแล้ว ลูกอาจชอบอาหารบางอย่างและอยากทานมากขึ้น ลูกยังพร้อมที่จะกินอาหารกึ่งเหลวที่จะช่วยพัฒนาทักษะการบดเคี้ยว และคุณแม่อาจเสริมมื้อนมด้วยอาหารเสริมสำหรับทารก คุณแม่ควรจัดให้ลูกได้กินอาหารเป็นเวลาโดยนั่งกินบนเก้าอี้สูงสำหรับเด็กแบบมีที่รัดลำตัวเพื่อสร้างอุปนิสัยการกินที่ดีแก่ลูก
ช่วงวัย 7-9 เดือนนี้ ลูกน้อยยังเหมาะกับการให้ผักหรือผลไม้ชิ้นพอเหมาะแก่เด็กสำหรับถือกินเล่น เพื่อเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อที่ใช้ในการพูดของลูกด้วย เด็กอาจทำเลอะเทอะบ้างแต่ประโยชน์ที่ได้ก็คือ ลูกจะสนุกกับการรับประทานอาหารและรับประทานได้มากขึ้น
คุณแม่สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ อาหารเสริมตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็ก
และการทำอาหารสำหรับลูกน้อยที่เมนูลูกรัก
พัฒนาการเด็ก 7 เดือน การทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อและการรับรู้ ช่วงวัยนี้ ลูกน้อยเริ่มโยนหรือขว้างสิ่งของ นั่นเป็นเพราะกำลังเรียนรู้วิธีปล่อยสิ่งของออกจากมือ ลูกจะสนุกกับการฝึกฝนทักษะที่ค้นพบใหม่นี้ วัยนี้ลูกอาจเริ่มกลัวการพรากจากแม่ จึงจะเกาะติดแม่แม้ว่าแม่จะจากเพียงครู่เดียวก็ตาม การให้ทำอะไรซ้ำๆอย่างสม่ำเสมอตามกิจวัตรประจำวันที่วางไว้จะช่วยลดความกลัวของลูกลงได้ เช่น ให้กินนมหลังตื่นนอน ให้อาหารว่างเป็นเวลา การทำเหมือนกันทุกๆวันจะช่วยให้ลูกสามารถคาดหมายสิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นลำดับในแต่ละวัน และช่วยให้ลูกรู้สึกมั่นคงปลอดภัยด้วย การเล่นซ่อนหาก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยลดความกลัวการพรากได้ เด็กเล็กๆมักไม่เบื่อหน่ายกับการเล่นเกมปิดตาจ๊ะเอ๋เลย คุณแม่อาจแกล้งนำตุ๊กตาตัวโปรดของลูกไปซ่อน และชวนลูกไปหาให้พบ
เมื่อเด็กพัฒนาการเข้า 7 เดือน การเล่นเสียงและคำพูดที่มีความหมาย ลูกเริ่มแสดงบุคลิกภาพเฉพาะตัวเล็กๆน้อยๆออกมาบ้างแล้ว เริ่มจากจำชื่อของตัวเองได้ เขาก็จะหันมาหาทันทีเมื่อเรียกชื่อเขา การออกเสียงของเขาเริ่มฟังดูคล้ายๆคำที่มีความหมายมากขึ้น และลูกมักจะชอบออกเสียงคำที่พูดพยางค์เดียวได้ค่อนข้างชัด เขาจะแสดงความเห็นของตัวเองเมื่อมีโอกาส ไม่ว่าจะโดยการส่งเสียง การหัวเราะ ส่งเสียงคัดค้าน หรือกรีดร้องดังๆก็ตาม ตอนนี้ ลูกเริ่มเข้าใจความหมายของคำว่า “อย่า” แล้ว ถึงแม้ว่าบางครั้งจะไม่ยอมเชื่อฟังคำสั่งก็ตาม
ลูกจะเริ่มหันมาสนใจการอ่านหนังสือให้ฟังของคุณมากขึ้น โดยพยายามพลิกหน้าหนังสือหรือฟังคุณอ่านออกเสียงอย่างตั้งใจ จะชอบดูรูปภาพที่มีสีสันในหนังสือ แต่จะยังไม่สามารถเชื่อมโยงภาพที่เห็นกับคำอ่านของคุณได้ในเวลานี้ คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง หนังสือภาพสัตว์นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะกระตุ้นความสนใจของลูกและทำให้ลูกได้เรียนรู้เสียงแปลกๆ ใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น ลูกจะตื่นเต้นกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติทั้งในและนอกบ้านในช่วงเวลานี้ การให้ลูกคลานเล่นที่พื้น หรือชี้ชวนให้ลูกดูสิ่งต่างๆพร้อมกับเรียกชื่อของสิ่งนั้นไปด้วย จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก
พฤติกรรมและทักษะการกินในช่วงอายุ 0- 2 ปีแรก เป็นรากฐานสำคัญอย่างยิ่งของพฤติกรรมด้านการกินเมื่อเข้าสู่วัยเด็กโต เช่น การเคี้ยวอาหาร และไม่อมข้าว การนั่งกินอาหารเป็นที่ การตักข้าวกินเอง หรือการเข้าใจมารยาทบนโต๊ะอาหาร เป็นต้น ดังนั้นพฤติกรรมการกินและการเติบโตที่สมวัย ของเด็กจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างพ่อแม่และเด็ก
ทุกคำถามที่คุณแม่อยากรู้ เราพร้อมให้คำแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญพยาบาล และนักโภชนาการ.