การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทารก และการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ/โภชนาการของมารดาก็มีความสำคัญเมื่อให้นมลูก
การตัดสินใจไม่ให้นมลูกอาจเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข นมผงสำหรับทารกเหมาะตั้งแต่แรกเกิดเมื่อทารกไม่ได้กินนมแม่ ขอแนะนำให้ใช้นมสูตรทั้งหมดตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาลผดุงครรภ์ ผู้มาเยี่ยมเยียนด้านสุขภาพ พยาบาลสาธารณสุข นักโภชนาการ เภสัชกร หรือผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ที่รับผิดชอบในการดูแลแม่และเด็ก
และควรคำนึงถึงผลกระทบทางการเงินด้วย ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการเตรียมและการให้อาหารทั้งหมดอย่างระมัดระวัง เนื่องจากการจัดเตรียมที่ไม่เหมาะสมอาจนำไปสู่อันตรายต่อสุขภาพได้
ภูมิแพ้อาหารเป็นอีกปัญหาโภชนาการในเด็กเล็ก ภูมิแพ้เป็นปฏิกิริยาของระบบภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นหลังจากกินอาหารบางอย่างเข้าไป ซึ่งการแสดงอาการจะเกิดมากในเด็กวัยต่ำกว่า 3 ปี และค่อยๆ หายเมื่ออายุ 5 ปี นะคะ
จริงๆ แล้วสาเหตุของภูมิแพ้อาหารก็ยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน โดยคาดว่า อาจเกิดมาจากยีนหรือสารพันธุกรรมบางอย่าง โดยการดูจากประวัติครอบครัว อาจจะชี้แนวโน้มที่เด็กจะเป็นภูมิแพ้ได้ การที่ระบบภูมิต้านทานของทารกมีความไวต่อสิ่งแปลกปลอม หรือสภาวะบางอย่างในกระเพาะและทางเดินอาหารก็อาจเป็นสาเหตุอาการภูมิแพ้ได้ค่ะ
ปกติระบบภูมิต้านทานของคนเรา ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ จะเข้าใจว่าอาหารที่ทานเข้าไปเป็น “สิ่งแปลกปลอมแต่ปลอดภัย” และเมื่อมีบางอย่างผิดปกติระหว่างการแปรสภาพอาหารในระบบย่อยอาหาร ร่างกายจะมีปฏิกิริยาไวต่ออาหาร จนทำให้ระบบภูมิต้านทานเข้าใจว่าอาหารนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมและเป็นภัยคุกคาม จึงผลิต “markers” (เช่น อิมมูโนโกลบูลิน IgE หรือ IgG) สำหรับอาหารนั้น และเมื่อทานอาหารนั้นเข้าไปอีก อาหารที่ทานจะเจอกับ “markers” ซึ่งกระตุ้นให้ร่างกายปล่อยสารเคมีต่างๆ เช่น ฮิสตามีน ทำให้เกิดอาการแรกเริ่มของภูมิแพ้อาหารได้ค่ะ
คุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่คะ ว่าภาวะร่างกายที่ไม่ทนต่ออาหารบางชนิด (food intolerance) และปฏิกิริยาไวต่ออาหารบางอย่างนั้น(food sensitivity) ต่างจากภูมิแพ้อาหาร(food allergy) นะคะ ภาวะสองอย่างแรกนั้น เป็นปฏิกิริยาต่ออาหารที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองใดๆ ของระบบภูมิต้านทาน ตัวอย่างเช่น เด็กที่ไม่มีเอนไซม์เพื่อย่อยแลคโตส หรือน้ำตาลในนม จึงมีอาการท้องเสียและท้องไส้ปั่นป่วนเมื่อดื่มนมเข้าไป
อาการแรกเริ่มที่แสดงว่าเป็นภูมิแพ้อาหาร สามารถแสดงได้หลายระบบและมีความหลากหลายในแต่ละคน เช่น ผื่นแดง ไข้ละอองฟาง ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ไซนัสอักเสบ หืดหอบ ซึ่งจะเกิดเมื่อมีการกินอาหารบางประเภทไปเป็นตัวกระตุ้น ร่างกายที่มีความไวจึงแสดงอาการแพ้ เป็นปฏิกิริยาตอบสนอง
ภาวะภูมิแพ้ในเด็กอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากอาจเกิดมาจากพันธุกรรม แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดอาการแรกเริ่มในตัวลูกน้อยได้ด้วยโภชนาการ * โภชนาการที่ดีตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิตเป็นกุญแจสำคัญของการป้องกันการแพ้อาหารนะคะ
เสริมสร้างระบบภูมิต้านทานและระบบย่อยอาหารด้วยการกินอาหารที่สมดุลและหลากหลาย ออกกำลังกายเป็นประจำ และนอนหลับให้เพียงพอ
อ่านฉลากและเข้าใจข้อมูลต่างๆ บนฉลาก และเลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่เหมาะสม
เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน หรือนานที่สุดเท่าที่ต้องการค่ะ เพราะการให้นมแม่ คือโภชนาการที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย ซึ่งมีบทบาทช่วยลดความเสี่ยงภูมิแพ้ และกระตุ้นภูมิต้านทานอย่างเป็นธรรมชาติ
ให้ลูกกินอาหารเสริมตอนอายุ 6 เดือนเท่านั้น อย่าเริ่มเร็วกว่านั้นนะคะ โดยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน เพราะนมแม่คือรากฐานของพัฒนาการทั้งร่างกายและระบบภูมิต้านทาน
เมื่อให้ลูกเริ่มทานอาหารเสริมตามวัย ควรให้กินอาหารที่มีสารก่อภูมิแพ้น้อย เริ่มให้ลูกทานอาหารเสริมตามวัยทีละชนิด ในปริมาณน้อยๆ เพียงวันละ 1-2 ช้อนโต๊ะก่อน แล้วค่อยๆ ปรับปริมาณเพิ่มขึ้นและสังเกตว่ามีอาการแพ้หรือไม่สำหรับเมนูอาหารเด็ก เช่น โจ๊กข้าวทำเอง
หลังเริ่มต้นด้วยข้าวผ่านไป 3-5 วันค่อยเริ่ม ให้ทานผักใบสีเขียวอ่อน จากนั้นอีก 3-5 วัน จึงค่อยเริ่มให้ทาน ไก่ หมู ปลาน้ำจืด ทีละอย่าง
หลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ง่าย เช่น ไข่ อาหารทะเลทุกชนิด ผักผลไม้ที่มีแคโรทีนสูง (มักเป็นผลไม้ที่มีสีแดง ส้ม เหลือง เช่น มะเขือเทศ แครอท ฟักทอง มะละกอ) รวมทั้งผักสีเขียวแก่ เช่น บร็อคโคลี่ ผักโขม
ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวหรืออาหารที่มีส่วนผสมของสีผสมอาหาร สารปรุงแต่งรส สารกันบูด ควรให้เมื่อกระเพาะอาหารของลูกเริ่มแข็งแรง และ ทำงานได้สมบูรณ์
ให้ลูกลองกินอาหารใหม่ๆ ทีละอย่างทุก 3-5 วัน วิธีการนี้จะช่วยให้คุณสามารถแยกแยะว่าอะไรเป็นต้นเหตุของอาการภูมิแพ้นะคะ
*ที่มา: รศ.พญ. จรุงจิตต์ งามไพบูลย์ . รวมความรู้เรื่องแพ้นมวัว
ทุกคำถามที่คุณแม่อยากรู้ เราพร้อมให้คำแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญพยาบาล และนักโภชนาการ.