การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทารก และการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ/โภชนาการของมารดาก็มีความสำคัญเมื่อให้นมลูก
การตัดสินใจไม่ให้นมลูกอาจเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข นมผงสำหรับทารกเหมาะตั้งแต่แรกเกิดเมื่อทารกไม่ได้กินนมแม่ ขอแนะนำให้ใช้นมสูตรทั้งหมดตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาลผดุงครรภ์ ผู้มาเยี่ยมเยียนด้านสุขภาพ พยาบาลสาธารณสุข นักโภชนาการ เภสัชกร หรือผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ที่รับผิดชอบในการดูแลแม่และเด็ก
และควรคำนึงถึงผลกระทบทางการเงินด้วย ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการเตรียมและการให้อาหารทั้งหมดอย่างระมัดระวัง เนื่องจากการจัดเตรียมที่ไม่เหมาะสมอาจนำไปสู่อันตรายต่อสุขภาพได้
เมื่อทารกน้อยของคุณพ่อคุณแม่ก้าวเข้าสู่วัยที่ต้องได้รับอาหารเสริมตามวัย คุณพ่อคุณแม่มักจะมีความกังวลเรื่องความพร้อมของลูกที่จะทานอาหารชนิดใหม่ๆ ใช่ไหมคะ และที่สำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่มักจะตั้งคำถามว่า ควรจะเลือกอาหารชนิดใดให้ลูกรักดีนะ เราจะมาเจาะลึกอาหารเสริมเริ่มแรกระยะที่ 1 ของลูกรักกันนะคะ เพื่อเป็นการเริ่มต้นมื้อเสริมครั้งแรกๆ อย่างถูกต้องค่ะ ระยะที่หนึ่งของอาหารเสริมทารก นั่นก็คือ วัย 6-8 เดือนนั่นเอง
เวลาที่เหมาะสมที่จะให้อาหารเสริมตามวัยกับลูก ควรเป็นเวลาที่ลูกน้อยมีความพร้อมในหลายๆด้านคือ พัฒนาการทางร่างกาย เช่น เริ่มนั่งได้ สามารถตวัดลิ้นผลักอาหารลงสู่ลำคอ (loss of extrusion reflex) หรือ ทำท่าอยากเคี้ยว และแสดงความสนใจอาหาร ซึ่งการทําหน้าที่ของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการกลืนจะประสานงานกันได้ดีเมื่อทารกอายุได้ 4 เดือนเป็นต้นไป
พัฒนาการระบบย่อยอาหาร ทารกสามารถสร้างน้ำย่อย amylase เพื่อย่อยแป้ง ได้เพียงพอเมื่ออายุ 4-6 เดือน และสร้างน้ำย่อย pancreatic lipase และ bile ในการย่อยไขมัน เมื่อทารกอายุประมาณ 6-9 เดือน
พัฒนาการระบบภูมิคุ้มต้านทานทารกจะเริ่มสร้างภูมิคุ้มต้านทานได้มากขึ้น หลังอายุ 6 เดือนขึ้นไป ระยะอายุน้อยกว่า 6 เดือนนั้น เซลล์เยื่อบุลำไส้ยังอยู่กันห่างๆ การได้รับอาหารอื่น จึงเป็นการนำสิ่งแปลกปลอมผ่านไปกระตุ้นให้เกิดการแพ้ได้ค่ะ
ช่วงแรกของการเริ่มให้อาหารเสริมตามวัย คุณแม่ควรให้ลูกน้อยทานอาหารที่มีความหลากหลายโดยให้ลูกได้ลองอาหารทีละอย่าง ซึ่งมีความสำคัญ เนื่องจากจะช่วยให้ลูกน้อยมีเวลาลิ้มรสและชื่นชอบอาหารแต่ละอย่าง และยังช่วยให้คุณแม่สังเกตได้ว่า ลูกแพ้อาหารชนิดใดหรือไม่ เมื่อลูกน้อยคุ้นเคยกับรสชาติและเนื้อสัมผัสที่หยาบของอาหารที่มีส่วนผสมชนิดเดียวแล้ว คุณแม่อาจเริ่มผสมอาหารสองชนิดหรือมากกว่านั้นได้นะคะ
การปรุงอาหารเองที่บ้านโดยใช้อาหารที่ในท้องถิ่นนั้น ๆ ช่วยให้ได้อาหารที่สดใหม่ มีคุณค่าทางโภชนาการนะคะ เรามีตัวอย่างชนิดอาหารที่คุณแม่ควรเลือก ดังนี้ค่ะ
ไข่แดงทั้งฟอง เนื่องจากทารกมีโอกาสแพ้ไข่ขาวได้มากกว่าไข่แดง จึงเริ่มให้ไข่ขาวเมื่อายุ 7 เดือนหรือมากกว่า ไข่แดง อุดมไปด้วยโปรตีนและไขมันที่เหมาะกับทารก จะเป็นไข่เป็ดหรือไข่ไก่ก็ได้ ควรทำให้สุกย่อยง่าย ไม่ควรให้เป็นยางมะตูม หรือ ไข่ลวก เพราะถ้าไม่สะอาดอาจมีเชื้อโรคได้
ตับ ทั้งตับไก่และตับหมู เป็นแหล่งของสารอาหารที่ดี ได้แก่ โปรตีน วิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี 2 และแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก
เนื้อสัตว์ต่างๆ เนื้อหมู ไก่ และ ปลา เป็นแหล่งอาหารสำคัญของโปรตีน เหล็ก สังกะสีและวิตามินต่างๆ นอกจากนี้ปลายังเป็นแหล่งของกรดไขมัน DHA
ถั่วเมล็ดแห้งและผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง เป็นอาหารที่มีโปรตีน แร่ธาตุต่างๆที่ช่วยในการเจริญเติบโตของทารก ควรต้มให้สุกและบดให้ละเอียด เพื่อให้ย่อยได้ง่าย ลดอาการท้องอืด หรือในรูปของผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ เป็นต้น
ผลไม้ ควรให้ลูกน้อยทานผลไม้เป็นอาหารว่างวันละครั้ง เช่น กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก มะม่วงสุก ส้มเขียวหวาน เป็นต้น
ผักต่างๆ นอกจากจะเป็นแหล่งของวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ แล้ว ยังมียอาหารเพื่อช่วยการขับถ่ายของทารก ควรเลือกผักให้หลากหลาย โดยเฉพาะผักใบเขียวและส้ม เช่น ตำลึง ผักบุ้ง ฟักทอง แครอท เป็นต้น
ข้าว-แป้ง เช่น ข้าวต้ม หรือ ข้าวตุ๋น ควรใช้ข้าวสวยสำหรับผู้ใหญ่มาต้ม หรือปลายข้าวหรือตำข้าวให้ละเอียดก่อนนำมาต้ม ถ้าทารกอายุมากขึ้น อาจ สลับเป็นแป้งชนิดอื่น เช่น ขนมปังกรอบชนิดจืด เป็นต้น
อาหารเหลว เมื่อทารกได้รับอาหารเสริมเพิ่มมากขึ้น ช่วงอายุ 6 เดือนถึง 1 ปี ปริมาณน้ำนมที่ทารกได้รับจะเริ่มลดน้อยลง แต่น้ำนมแม่ควรจะยังคงเป็นแหล่งอาหารหลักของทารกตลอดช่วงขวบปีแรก โดยควรได้รับนมประมาณวันละ 25-30 ออนซ์ หรือ 750 – 900 ซีซีต่อวันนะคะ
ในส่วนของความหยาบและความข้นหนืดเป็นเนื้อเดียวกันของอาหารแรกเริ่มนั้น ควรมีลักษณะดังนี้ ค่อนข้างเปียกและมีความข้นหนืดลักษณะกึ่งเหลว อาจเจือจางอาหารบดเหลวด้วยน้ำต้มสุกหรือน้ำนมแม่ ลักษณะนิ่มมาก คุณแม่ต้องทำให้อาหารสุกจนนิ่มมาก แล้วค่อยบดเหลวจนได้เนื้อเนียนละเอียดเพื่อให้กลืนง่าย
ความหยาบ/ละเอียด | นม | ข้าว | ไข่ | เนื้อสัตว์ | ผัก | ผลไม้ | ไขมัน |
---|---|---|---|---|---|---|---|
เริ่มด้วยอาหารบด ละเอียดกึ่งเหลวผสมกับน้ำแกงจืดหรือน้ำซุป | นมแม่ 5-6 ครั้งต่อวัน หรือ ประมาณ 25-30 ออนซ์ | ข้าวบดละเอียด 3 ช้อนกินข้าว | ไข่แดงครึ่งฟอง | สลับกับตับบด 1 ช้อนกินข้าว หรือ ปลาบด 2 ช้อนกินข้าว | ผักบด ½ ช้อนกินข้าว (ผักใบเขียวหรือเหลืองส้มที่อ่อนนุมกลิ่นไม่แรง เช่น ตำลึง ผักบุ้ง ฟักทอง แครอท) | ผลไม้สุก 2 ชิ้น เช่น มะละกอสุก หรือ หรือ กล้วยน้ำว้าสุก 1 ผล | ใช้น้ำมันพืช 1ช้อนชา ทำให้ความหยาบของอาหารมีเนื้อสัมผัสอ่อนนุ่ม ไม่แข็งกระด้างจนเกินไป เพื่อให้ทารกฝึกทักษะการเคี้ยวและกลืน |
*ที่มา- กองโภชนาการ กระทรวงสาธารณะสุข กินตามวัยให้พอดี
ทุกคำถามที่คุณแม่อยากรู้ เราพร้อมให้คำแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญพยาบาล และนักโภชนาการ.